หนังสือพิมพ์ The New York Times รายงานว่า รัฐบาลไทยกำลังเตรียมเปิดตัวหุ่นยนต์ทดสอบอาหารไทย เพื่อสร้างมาตรฐานของอาหารไทยทั่วโลก หลังจากที่ใช้งบประมาณลงทุนในการสร้างและพัฒนาเครื่องไปมากกว่า 9 ล้านบาท โดยเป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่าง วิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. และบริษัทโควิก เคทท์ ผู้ผลิตอาหารเสริมและผลิตภัณฑ์ด้านเครื่องสำอาง
สำหรับวิธีการทดสอบคือการที่หุ่นยนต์จะนำเอาตัวอย่างของอาหารไปทำการตรวจวัดทางเคมีด้วยความต่างศักย์ไฟฟ้า (voltages) ที่แตกต่างกัน จากนั้นเครื่องจะนำผลจากตัวอย่างไปเทียบกับลักษณะตัวอย่างของอาหารไทยที่เป็นมาตรฐานอัตโนมัติ และแจ้งว่าได้ตามมาตรฐานหรือไม่ ซึ่งถ้าได้คะแนนต่ำกว่า 80 คะแนน จาก 100 คะแนน แปลว่าอาหารจานนั้นไม่ได้มาตรฐาน
คุณนาคาญ์ ทวิชาวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โควิก เคทท์ ให้สัมภาษณ์กับทาง The New York Times ว่า ตั้งใจที่จะจำหน่ายเครื่องดังกล่าวนี้ให้กับทางสถานเอกอัครราชทูตไทยตามประเทศต่างๆ ที่มีร้านอาหารไทยอยู่เป็นจำนวนมาก ในราคาที่เครื่องละ 18,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 580,000 บาท)
โครงการสร้างมาตรฐานอาหารไทย รู้จักกันในนามของ Thai Delicious เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็นความพยายามในการจัดระเบียบอาหารไทยทั่วทุกมุมโลก และได้รับการถกเถียงอย่างมากในช่วงเวลานั้นว่าเป็นโครงการที่เหมาะสมหรือไม่ และแม้ว่าจะเกิดรัฐประหารไปแล้ว รัฐบาลชุดใหม่หลังรัฐประหารยังคงให้ดำเนินการโครงการนี้ต่อไป
อนึ่ง ในรายงานของ The New York Times ระบุว่า ได้นำเอาแกงเขียวหวานที่ผลิตจากครัวของสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศในประเทศไทย ไปทำการทดสอบ ผลที่ได้คือ 78 คะแนน จาก 100 คะแนน
ที่มา - The New York Times
หน้าตาของหุ่นยนต์ (ภาพจาก The New York Times)